พรรคภูมิใจไทย เสนอแก้ไข กฎกระทรวงว่าด้วยสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม
26 พฤศจิกายน 2018 12:40
ห้องพักในบ้าน ห้องชุด นำมาให้บริการเช่ารายวัน โดยจะมีการแก้ไขกฎหมาย เหตุผลในการ แก้ไขกฎกระทรวงว่าด้วยสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมพ.ศ.…………. ฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.2547กำหนดห้ามมิให้ทำกิจการโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโรงแรม แต่กรณีถ้าไม่มีใบอนุญาตโรงแรม หากต้องการทำเพื่อหารายได้เสริมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีห้องพักไม่เกิน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน 20 คน และได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดแล้ว แต่ปัญหาคือ จำนวนของห้องพักและจำนวนผู้พักดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาพของการบริการที่เหมาะสมในปัจจุบันและเป็นการจำกัดโอกาสแก่ผู้ที่จะประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริมดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันกระทรวงหมาดไทยยังไม่ได้มีการกำหนดแบบหรือกฎเกณฑ์ใดออกมาดังนั้นเพื่อ เป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการดังกล่าวและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตรากฎกระทรวงฉบับนี้ เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงว่าด้วยการนำห้องชุดออกให้เช่ารายวันพ.ศ.…..…….ฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ. 2547และกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ. 2551 ไม่ครอบคลุมถึงกรณีของอาคารชุดและห้องชุดที่นออกมาให้เช่ารายวัน ทำให้การดำเนินการดังกล่าวไม่สามารถควบคุมหรือกำกับดูแลให้ อยู่ในมาตรฐานของสุขลักษณะหรือความปลอดภัยได้ ประกอบกับตามพระราชบัญญัติและกฎกระทรวงดังกล่าว ยังไม่เหมาะสมกับสภาพของการบริการที่เหมาะสมในปัจจุบันและเป็นการจำกัดโอกาสแก่ผู้ที่จะประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริมดังกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการดังกล่าวและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตรากฎกระทรวงฉบับนี้ สาระสำคัญของ ร่างกฎกระทรวง :
- เจ้าของห้องพัก ที่สามารถนำมาให้เช่าได้ต้องมีสัญชาติไทยเท่านั้น
- เจ้าของห้องพัก เป็น “ผู้ประกอบกิจการ” คือบุคคลธรรมดาผู้ซึ่งประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม สามารถนำห้องพักให้เช่าได้ ทั้งนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมกิจการขนาดย่อมที่มาจากการบริหารจัดการทรัพย์สินส่วนบุคคล
- “สถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม”
- กฎกระทรวงฉบับเดิม: กำหนดจำนวนห้องพักจำนวน 4 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 20 คน
- ร่างกฎกระทรวงใหม่:สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในทะเบียนบ้านเดียวกันไม่เกิน10 ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกิน 20 คน
- อาคารชุดหรือห้องชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.2522 ที่นายทะเบียนอนุญาตต้องได้รับการยินยอมจากเจ้าของร่วมมากกว่ากึ่งหนึ่งผ่านการลงมติโดยนิติบุคคลอาคารชุด จึงสามารถนำมาให้เช่าได้ไม่เกิน 25% ของพื้นที่รวมของห้องพัก
- เจ้าของห้องพักต้องได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนท้องถิ่น มีการตรวจสอบก่อนออกใบอนุญาต และมีการต่อใบอนุญาตทุกปี เพื่อความปลอดภัยและได้มาตรฐาน
- เจ้าของห้องพักจัดทำทะเบียนการเข้าพัก และรายงานต่อหน่วยงานที่กำหนดตามกฎหมาย (ชาวต่างชาติเข้าพัก ต้องรายงานต่อ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ชาวไทยเข้าพัก ต้องรายงานต่อหน่วยงานท้องถิ่น)
(ร่าง)
กฎกระทรวง
ว่าด้วยสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม
พ.ศ.………….
……………………………………………
……………………………………………
อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔ มาตรา ๕ และมาตรา๑๓ แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.๒๕๔๗ ประกอบกับความในข้อ ๑ แห่งกฎกระทรวงกำหนดประเภทและหลักเกณฑ์การประกอบธุรกิจโรงแรม พ.ศ.๒๕๕๑ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยโดยคำแนะนำของคณะกรรมการส่งเสริมและกำกับธุรกิจโรงแรมออกกฎกระทรวงไว้ดังต่อไปนี้ ข้อ๑กฎกระทรวงนี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดเก้าสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ข้อ๒ในกฎกระทรวงนี้ “นายทะเบียน” หมายความว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นหรือพนักงานส่วนท้องถิ่นซึ่งได้รับการแต่งตั้งจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยในท้องที่ที่สถานประกอบกิจการตั้งอยู่ “ผู้ประกอบกิจการ”หมายความว่า บุคคลธรรมดาผู้ซึ่งประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมและได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนรวมกันทุกประเภทแล้วไม่เกินสิบห้อง “สถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม” หมายความว่า สถานที่พักที่มีจำนวนห้องพักในอาคารเดียวกันหรือหลายอาคารรวมกันไม่เกินสิบห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันทั้งหมดไม่เกินยี่สิบคนซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อให้บริการที่พักชั่วคราวสำหรับคนเดินทางหรือบุคคลอื่นใดโดยมีค่าตอบแทนและให้หมายความรวมถึงอาคารชุดหรือห้องชุดตามพระราชบัญญัติอาคารชุด พ.ศ.๒๕๒๒ที่นายทะเบียนอนุญาตหมวดที่ ๑
หลักเกณฑ์การแจ้งการประกอบกิจการ
ข้อ ๓ บุคคลธรรมดาที่จะประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมต้องแจ้งขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบการต่อนายทะเบียนในท้องที่ที่สถานประกอบกิจการนั้นตั้งอยู่ ข้อ ๔บุคคลธรรมดาผู้ที่ประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมต้องยื่นเอกสารดังต่อไปนี้ ให้แก่นายทะเบียน (๑) สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน (๒) สำเนาใบอนุญาตการก่อสร้างอาคารหรือใบรับรองการตรวจสภาพอาคารตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร (๓) สำเนาเอกสารการจดทะเบียนพาณิชย์ (๔)เอกสารอื่นๆตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ข้อ ๕ เมื่อได้รับแจ้งให้นายทะเบียนตรวจความถูกต้องและความสมบูรณ์ของหนังสือแจ้งและเอกสารประกอบ และให้นายทะเบียนรวบรวมความไม่ถูกต้องหรือความไม่สมบูรณ์และแจ้งให้ผู้แจ้งแก้ไขให้ถูกต้องและสมบูรณ์ในคราวเดียวกันภายในสิบห้าวันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้งและเอกสารประกอบ เมื่อได้รับแจ้งให้นายทะเบียนหรือเจ้าหน้าที่ที่นายทะเบียนมอบหมายออกไปตรวจสอบสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมที่มีการแจ้งและประเมินห้องชุดดังกล่าว โดยให้นำหลักเกณฑ์และมาตรฐานที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.๒๕๓๕ ว่าด้วยเรื่องของกิจการที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพมาบังคับใช้โดยอนุโลม นายทะเบียนต้องออกใบรับแจ้งหรือมีหนังสือแจ้งคำสั่งไม่รับแจ้งพร้อมด้วยเหตุผลให้ผู้แจ้งทราบภายในสามสิบวันนับแต่วันได้รับหนังสือแจ้ง ข้อ ๖ใบรับแจ้งให้มีอายุหนึ่งปีนับแต่วันที่ออกใบรับแจ้งและให้ใช้ได้เพียงในเขตอำนาจของท้องที่ที่สถานประกอบการนั้นตั้งอยู่เท่านั้น การขอต่ออายุใบรับแจ้งจะต้องยื่นคำขอก่อนใบรับแจ้งสิ้นอายุ ผู้ได้รับใบรับแจ้งต้องเสียค่าธรรมเนียมการออกใบรับแจ้งใบตามอัตราที่กฎกระทรวงนี้กำหนดในวันที่มารับใบรับแจ้งกรณีที่เป็นการขอต่ออายุใบรับแจ้งตลอดเวลาที่ยังดำเนินกิจการนั้นถ้ามิได้เสียค่าธรรมเนียมภายในเวลาที่กำหนดให้ชำระค่าปรับเพิ่มขึ้นอีกร้อยละ ๒๐ ของจำนวนค่าธรรมเนียมที่ค้างชำระเว้นแต่ผู้ได้รับใบรับแจ้งจะได้บอกเลิกการดำเนินกิจการนั้นก่อนถึงกำหนดการเสียค่าธรรมเนียมครั้งต่อไป ในกรณีที่ผู้มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมตามวรรคสามค้างชำระค่าธรรมเนียมติดต่อกันเกินกว่าสองครั้งให้นายทะเบียนสั่งให้ผู้นั้นหยุดการดำเนินกิจการไว้จนกว่าจะได้เสียค่าธรรมเนียมและค่าปรับจนครบจำนวน ค่าธรรมเนียมและค่าปรับให้เป็นรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นซึ่งสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมนั้นตั้งอยู่ ข้อ ๗ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบรับแจ้งต้องแสดงใบรับแจ้งไว้โดยเปิดเผยและเห็นได้ง่ายณสถานที่ประกอบกิจการตลอดเวลาที่ประกอบกิจการ กรณีที่ใบรับแจ้งสูญหายถูกทำลายหรือชำรุดในสาระที่สำคัญให้ผู้ประกอบกิจการที่ได้รับใบรับแจ้งยื่นคำขอรับใบแทนใบรับแจ้งภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ได้ทราบถึงการสูญหายถูกทำลายหรือชำรุด การขอรับใบแทนใบรับแจ้งและการออกใบแทนใบรับแจ้งให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขดังต่อไปนี้ (๑) ในกรณีใบรับแจ้งสูญหายให้ผู้ยื่นคำขอรับใบแทนใบรับแจ้งนำสำเนาบันทึกการแจ้งความต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แห่งท้องที่ที่ใบรับแจ้งสูญหายมาแสดงต่อนายทะเบียนประกอบด้วย (๒) ในกรณีใบรับแจ้งถูกทำลายหรือชำรุดในสาระที่สำคัญให้ผู้ยื่นคำขอรับใบแทนใบรับแจ้งนำใบรับแจ้งเดิมเท่าที่เหลืออยู่มาแสดงต่อนายทะเบียนประกอบด้วย ข้อ ๘ ห้ามมิให้ผู้ประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมดำเนินการดังต่อไปนี้ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน (๑) เปลี่ยนแปลงประเภทของสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม (๒) เพิ่มหรือลดจำนวนห้องพักอันมีผลกระทบถึงโครงสร้างของกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม (๓) เปลี่ยนชื่อกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมหมวดที่ ๒
หลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำหรับสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม
ข้อ ๙ สถานที่ตั้งของสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมต้องตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม ไม่อันตรายต่อสุขภาพอนามัยของผู้เข้าพัก ต้องไม่ตั้งอยู่ใกล้กับโบราณสถาน ศาสนสถานหรือสถานที่อื่นๆตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ข้อ ๑๐ สถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้ (๑) ต้องเป็นอาคารที่มีความมั่นคงแข็งแรงเหมาะสมที่จะประกอบกิจการได้ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง บันไดหนีไฟหรือทางออกฉุกเฉินมีลักษณะเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องทั้งนี้ต้องไม่มีสิ่งกีดขวางมีแสงสว่างเพียงพอและมีป้ายหรือเครื่องหมายแสดงชัดเจน โดยทางออกฉุกเฉินต้องมีไฟส่องสว่างฉุกเฉินเมื่อระบบไฟฟ้าปกติขัดข้อง (๒) ต้องจัดให้มีระบบการจัดแสงสว่างและการระบายอากาศให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง (๓) ต้องมีห้องน้ำและห้องส้วมตามแบบและจำนวนที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องและมีการดูแลรักษาความสะอาดให้อยู่ในสภาพที่ถูกสุขลักษณะเป็นประจำทุกวัน ข้อ ๑๑ สถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมต้องมีการเก็บรวบรวมหรือจำกัดมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะดังนี้ (๑) มีภาชนะบรรจุหรือภาชนะรองรับที่เหมาะสมและเพียงพอกับปริมาณและประเภทมูลฝอยรวมทั้งมีการทำความสะอาดภาชนะบรรจุหรือภาชนะรองรับและบริเวณที่เก็บภาชนะนั้นอยู่เสมอ (๒) ในกรณีที่มีการกำจัดเองต้องได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียนและต้องดำเนินการให้ถูกต้อง (๓) กรณีที่มีมูลฝอยที่ปนเปื้อนสารพิษหรือวัตถุอันตรายหรือสิ่งอื่นใดที่อาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจะต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง ข้อ ๑๒ สถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมต้องจัดให้มีการป้องกันเพื่อความปลอดภัยดังนี้ (๑) มีระบบสัญญาณเตือนเพลิงไหม้และเครื่องดับเพลิงตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคารและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง (๒) กรณีที่มีวัตถุอันตรายต้องมีสถานที่ที่ปลอดภัยสำหรับเก็บรักษาวัตถุอันตรายหรือสิ่งของที่อาจก่อให้เกิดอันตรายหรืออัคคีภัยได้ง่ายไว้โดยเฉพาะตามกฎหมายว่าด้วยวัตถุอันตรายและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องหมวดที่ ๓
การดำเนินกิจการและการเลิกกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรม
ข้อ ๑๓ ผู้ประกอบกิจการสถานที่พักที่ไม่เข้าลักษณะของโรงแรมต้องจัดให้มีการบันทึกรายการต่างๆเกี่ยวกับผู้พักและจำนวนผู้พักในแต่ละห้องลงในบัตรทะเบียนผู้พักในทันทีที่มีการเข้าพักโดยให้ผู้พักคนใดคนหนึ่งเป็นผู้ลงลายมือชื่อในบัตรทะเบียนผู้พักหากผู้พักมีอายุต่ำกว่าสิบแปดปีบริบูรณ์และเข้าพักตามลำพังให้ผู้ประกอบกิจการหรือผู้แทนลงลายมือชื่อกำกับไว้ด้วยและนำไปบันทึกลงในทะเบียนผู้พักให้แล้วเสร็จภายในยี่สิบสี่ชั่วโมงหลังจากมีการลงทะเบียนเข้าพัก ถ้ารายการซึ่งจะต้องบันทึกลงในทะเบียนผู้พักตามวรรคหนึ่งซ้ำกับรายการวันก่อนให้บันทึกรายการดังกล่าวว่าไม่มีการเปลี่ยนแปลง การบันทึกรายการต่างๆเกี่ยวกับผู้เข้าพักลงในบัตรทะเบียนผู้พักและทะเบียนผู้พักต้องบันทึก ทุกรายการให้ครบถ้วนห้ามมิให้ปล่อยช่องว่างไว้โดยไม่มีเหตุผลสมควร ผู้ประกอบกิจการต้องเก็บรักษาบัตรทะเบียนผู้พักและทะเบียนผู้พักไว้เป็นเวลาอย่างน้อยหนึ่งปีและต้องให้อยู่ในสภาพที่ตรวจสอบได้ บัตรทะเบียนผู้พักและทะเบียนผู้พักให้เป็นไปตามแบบที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด ข้อ ๑๔ ผู้ประกอบกิจการต้องส่งสำเนาทะเบียนผู้พักในแต่ละวันไปให้นายทะเบียนทุกสัปดาห์แล้วให้นายทะเบียนทำใบรับมอบให้ไว้เป็นสำคัญหากสถานประกอบกิจการใดอยู่ห่างไกลหรือไม่สามารถส่งได้ ตามกำหนดดังกล่าวให้นายทะเบียนพิจารณากำหนดระยะเวลาส่งสำเนาดังกล่าวแล้วแจ้งให้ผู้ประกอบกิจการทราบ ในกรณีที่ทะเบียนผู้พักที่เก็บรักษาไว้ในสถานประกอบกิจการสูญหายหรือถูกทำลายผู้ประกอบกิจการต้องดำเนินการขอคัดลอกสำเนาทะเบียนผู้พักนั้นจากนายทะเบียนมาเก็บรักษาไว้แทน ข้อ ๑๕ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการตกเป็นบุคคลล้มละลาย เป็นคนเสมือนไร้ความสามารถ เป็นคนไร้ความสามารถ ให้ใบรับแจ้งสิ้นอายุนับแต่วันที่ตกเป็นบุคคลสภาพเช่นนั้น ข้อ ๑๖ผู้ประกอบกิจการผู้ใดประสงค์จะเลิกกิจการในระหว่างอายุใบรับแจ้งหรือเมื่อใบรับแจ้งหมดอายุจะต้องแจ้งให้นายทะเบียนทราบล่วงหน้าไม่น้อยกว่าสิบห้าวันทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เมื่อได้รับแจ้งตามวรรคหนึ่ง ให้นายทะเบียนพิจารณาและมีคำสั่งว่าจะควรอนุญาตให้เลิกได้เมื่อใด ภายใต้เงื่อนไขและวิธีการอย่างใด ทั้งนี้ โดยให้พิจารณาถึงประโยชน์และส่วนได้เสียของผู้พักเป็นสำคัญ ข้อ ๑๗ผู้ขอรับใบรับแจ้งจะต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.๒๕๔๗หมวดที่ ๔
การเพิกถอนใบรับแจ้งและโทษ
ข้อ ๑๘ ในกรณีที่ปรากฏว่าผู้ประกอบกิจการที่รับใบรับแจ้งไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามกฎกระทรวงฉบับนี้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งพักใช้ใบรับแจ้งได้ภายในเวลาที่เห็นสมควรแต่ไม่เกินสิบห้าวัน ข้อ ๑๙ นายทะเบียนมีอำนาจออกคำสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งเมื่อปรากฏว่าผู้รับใบรับแจ้ง (๑) ถูกสั่งพักใช้ใบรับแจ้งตั้งแต่สองครั้งขึ้นไปและมีเหตุที่จะต้องถูกสั่งพักใช้ใบรับแจ้งอีก (๒) ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติโรงแรมพ.ศ.๒๕๔๗ (๓) ไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องตามบทแห่งพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.๒๕๔๗กฎกระทรวงที่ออกตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.๒๕๔๗หรือเงื่อนไขที่ระบุไว้ในใบรับแจ้งในเรื่องที่กำหนดไว้เกี่ยวกับการประกอบกิจการตามที่ได้รับใบรับแจ้งตามกฎกระทรวงฉบับนี้และการไม่ปฏิบัติหรือปฏิบัติไม่ถูกต้องนั้นก่อให้เกิดอันตรายอย่างร้ายแรงต่อสุขภาพของประชาชนหรือมีผลกระทบต่อสภาวะความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับการดำรงชีพของประชาชน ข้อ ๒๐ ผู้ประกอบกิจการที่ถูกสั่งเพิกถอนใบรับแจ้งจะขอรับใบรับแจ้งสำหรับการประกอบกิจการที่ถูกเพิกถอนใบรับแจ้งอีกไม่ได้จนกว่าจะพ้นกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ถูกสั่งเพิกถอนใบรับแจ้ง ข้อ ๒๑ เมื่อปรากฏว่ามีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงนี้ ต้องระวางโทษตามพระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.๒๕๔๗ ให้ไว้ ณ วันที่.......เดือน............พ.ศ............ .................................... รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย อัตราค่าธรรมเนียม ........................................... ๑. ค่าใบอนุญาต๑,๐๐๐ บาท และต่อใบอนุญาตทุกปีๆ ละ ๑,๐๐๐ บาท ๒. ใบรับแจ้ง ห้องละ ๘๐ บาทต่อปี ๓. ใบแทนใบรับแจ้งห้องละ ๔๐บาท ต่อปี ๔. การต่ออายุใบรับแจ้งครั้งละกึ่งหนึ่งของค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประเภทนั้นๆแต่ละฉบับ หมายเหตุ ; เหตุผลในการประกาศใช้กฎกระทรวงฉบับนี้ คือ พระราชบัญญัติโรงแรม พ.ศ.๒๕๔๗กำหนดห้ามมิให้ทำกิจการโรงแรมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตโรงแรม แต่กรณีถ้าไม่มีใบอนุญาตโรงแรมแต่ต้องการทำเพื่อหารายได้เสริมจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีห้องพักไม่เกิน ๔ห้องและมีจำนวนผู้พักรวมกันไม่เกิน ๒๐คน และได้แจ้งให้นายทะเบียนทราบตามแบบที่รัฐมนตรีกำหนดแล้ว แต่ปัญหาคือ จำนวนของห้องพักและจำนวนผู้พักดังกล่าวไม่เหมาะสมกับสภาพของการบริการที่เหมาะสมในปัจจุบันและเป็นการจำกัดโอกาสแก่ผู้ที่จะประกอบกิจการเพื่อหารายได้เสริมดังกล่าว ประกอบกับปัจจุบันกระทรวงหมาดไทยยังไม่ได้มีการกำหนดแบบหรือกฎเกณฑ์ใดออกมาดังนั้นเพื่อ เป็นการส่งเสริมการประกอบกิจการดังกล่าวและทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงจำเป็นต้องตรากฎกระทรวงฉบับนี้