“มัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช” อภิปรายและแสดงความคิดเห็นแก้ไขเพิ่มเติม รธน. ม.144 และ ม.185 วอน พิจารณาแก้ไขเพิ่มเติม “ก้าวก่าย – แทรกแซง” "ทางตรง - ทางอ้อม" เอาให้ชัด

24 มิถุนายน 2021 02:56

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2564 นางสาวมัลลิกา จิระพันธุ์วาณิช สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดลพบุรี พรรคภูมิใจไทย อภิปรายและแสดงความคิดเห็นในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่..) พ.ศ. ..... ใน 2 มาตรา คือมาตราที่ 144 และมาตรา 185 ว่า ค่อนข้างเป็นกังวลว่าพี่น้องประชาชนจะเข้าใจผิด แล้วคิดตามส.ส.บางท่านที่อภิปรายในสภา และมีบางท่านเป็นนักวิชาการที่ให้สัมภาษณ์อยู่นอกสภา ว่ารัฐธรรมนูญปี 60 ที่มีมาตรา 144 และ 185 นั้น เป็นการป้องกันการทุจริต ไม่ให้ ส.ส.โกง ประเด็นหลักคือ เกี่ยวกับเรื่องของงบประมาณ การแปรญัตติงบประมาณ นำไปลงในพื้นที่ไม่ได้ ก็มีความผิด เวลาแปรญัตติ ตัดลดได้ เพิ่มไม่ได้เปลี่ยนไม่ได้ นั่นเป็นหัวใจหลักของมาตรา 144 และเกี่ยวโยงไปยังมาตรา 185 ด้วยคำว่า “ก้าวก่าย” และ “แทรกแซง” “ เราเป็นส.ส.เขต เวลาชาวบ้านเดือดร้อน มีปัญหา ถ้าเขาไม่มาหาส.ส. แล้วให้เขาไปหาข้าราชการ ถ้าเกิดข้าราชการไม่ทำให้ เมื่อ ส.ส.ไปพูด อย่างนี้เรียกว่า “ก้าวก่าย” หรือว่า “แทรกแซง” หรือเปล่า ถ้าบอกว่าส.ส.โกง ถ้าส.ส.มีงบ แปรญัตติไปพัฒนา ในจังหวัดตัวเอง คือเป็นการทุจริต จึงอยากทราบว่า หน่วยราชการที่มีงบเอาไปทำ มีการทุจริตหรือเปล่า ซึ่งย้อนแย้งกับความเป็นจริง ปัจจุบันนี้ถามว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ ตอบโจทย์ความเป็นจริงได้แค่ไหน ถ้าประชาชนเดือดร้อน อย่างเช่น วันนี้ภาคกลางมีปัญหาเรื่องภัยแล้ง ไม่มีน้ำในการทำนา แล้วมาหาส.ส. จะให้ทำอย่างไร นอนอยู่บ้านเฉยๆ ไม่ต้องออกไปดู หรือมาแค่สภามาออกกฎหมายแค่นั้น ไม่ต้องไปดูแลประชาชน แล้วเขาจะเลือกเรามาทำไม เพราะเราเป็นส.ส. ปัญหาของพี่น้องประชาชนนั้นคือความเดือดร้อนของพวกเรา “ อย่างไรก็ตาม นางสาวมัลลิกา ยังกล่าวด้วยว่า มีความต้องการให้แก้มาตรา 144 และ 185 จึงขอความอนุเคราะห์จากท่าน สว. ให้ช่วยสนับสนุน การแก้ไม่ได้หมายความว่าให้ตัดทิ้ง ไม่ได้บอกว่า ถ้าไม่มีแล้วส.ส.จะโกง ส.ส.ไม่ได้เลวร้าย และไม่ได้ชั่วร้ายทุกๆคน ส.ส.ที่ตั้งใจทำงานดูแลประชาชนของเขา เพราะว่าเขาถือว่าประชาชนในพื้นที่ของเขานั้นคือครอบครัวเดียวกัน เราทำแบบนี้กันมานาน และเชื่อว่า ส.ส.ในสภาแห่งนี้หลายท่านก็คิดแบบนี้ เราอยากดูแลคนของเรา พื้นที่ของเรา ประชาชนทุกๆ คนที่บอกว่ายากจน รวยไม่เท่ากัน เพราะฉะนั้นสิ่งที่จะสามารถทำให้ประชาชนนั้นดีขึ้นได้คือ ส.ส.ต้องมีสิทธิ์ มีส่วนที่จะต้องทำในการพัฒนาพื้นที่ และพัฒนาประเทศ “ ดังนั้น ขอความอนุเคราะห์ในวาระแรก นำมาตรา 144 และ 185 เข้าไปคุยกันในกรรมาธิการแก้ไข อย่างเช่นคำว่า “ทางตรง” หรือ “ทางอ้อม” คำว่า “ทางอ้อม” นั้น อ้อมอย่างไรเอาให้ชัดเจน คำว่า “แทรกแซง” คำว่า “ก้าวก่าย” ในมาตรา 185 แทรกแซงอย่างไร ก้าวก่ายแค่ไหน หมิ่นเหม่มาก ถ้าเกิดว่าจะต้องเข้าไปแก้ไขปัญหาให้กับประชาชน แล้วเสี่ยงกับการที่ผิดรัฐธรรมนูญ อีกทั้งข้อบทลงโทษเยอะ จึงขอฝากไปยังสมาชิกทุกท่านให้เห็นด้วยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับนี้ “ นางสาวมัลลิกา กล่าวทิ้งท้าย


แสดงความคิดเห็น